เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [3. สติปัฏฐานสังยุต]
5. อมตวรรค 5. กุสลราสิสูตร

4. สติสูตร
ว่าด้วยผู้มีสติ

[410] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงมีสติอยู่เถิด นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราสำหรับเธอ
ทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีสติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
2. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ฯลฯ
3. พิจารณาเห็นจิตในจิต ฯลฯ
4. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุผู้มีสติ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุพึงมีสติอยู่เถิด นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย”

สติสูตรที่ 4 จบ

5. กุสลราสิสูตร
ว่าด้วยกองกุศล

[411] “ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงกองกุศล จะกล่าวให้ถูกต้อง
พึงกล่าวถึงสติปัฏฐาน 4 ประการ เพราะกองกุศลทั้งสิ้นนี้ก็คือสติปัฏฐาน 4 ประการ
สติปัฏฐาน 4 ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :268 }